ออร์กาไนซ์เกมส์
กีฬาที่เด็กนักเรียนประจำ เล่นกันในโรงเรียนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ ออร์กาไนซ์เกมส์กับฟรีเกมส์
ออร์กาไนซ์เกมส์ (Organized Games) เป็นกีฬาที่ทางโรงเรียนจัดขึ้น วิธีการคือเมื่อเปิดเทอมต้น ทางโรงเรียนจะเรียกให้นักเรียนมายืนเข้าแถวหน้ากระดาน โตเรียงเล็ก หรือจะเล็กเรียงโตก็ได้ แล้วแต่จะนับทางไหนก่อน การเรียงนี้ไม่ต้องเลือกตามชั้นเรียนหรือตามอายุ เสร็จแล้วจะจัดกลุ่มเด็กสูงไล่ๆ กันแยกออกเป็นรุ่น ใหญ่ กลาง เล็ก และจิ๋ว แต่ละรุ่นแบ่งออกเป็น 4 สี แดง ขาว น้ำเงิน และเขียว
การคัดเลือกโดยนัยนี้จะมีนักเรียน 4 รุ่น 4 สี เรียกตามสีและรุ่น เช่น สีแดง ใหญ่ คือรุ่นใหญ่ที่อยู่สีแดง เป็นต้น ถ้าจำนวนนักเรียนมีมากก็แบ่งย่อยลงไปอีก เป็น เอ บี ซี ดี เช่น สีแดง ใหญ่เอ สีเขียว กลางบี เป็นต้น
นักเรียนแต่ละคนแต่ละปีไม่จำเป็นต้องอยู่สีเดิมรุ่นเดิม เพราะโตเร็วไม่เท่ากัน ใช้เกณฑ์คัดเลือกสุ่มตามความสูงทุกปีไป สีก็เปลี่ยนไป นับเป็นกลยุทธ์ชาญฉลาดป้องกันให้เด็กไม่ยึดติดกับสี ที่แบ่งสีเพื่อความสะดวกในการจัดระเบียบเล่นและส่งเสริมความสามัคคีในเกมส์เท่านั้น
แม้ในตอนเล่นกีฬาปกติเราก็ไม่ได้ใส่เสื้อสี คงใช้เสื้อกล้ามสีขาวธรรมดาที่นักเรียนทุกคนมีกัน ช่วยประหยัดงบประมาณของพ่อแม่ไปด้วยในตัว อุปกรณ์พิเศษอย่างอื่น เช่น รองเท้าฟุตบอล หรือรองเท้าบาสเก็ตบอลเราก็ไม่ใส่กัน เตาะบอลด้วยเท้าเปล่า อย่างดีก็ใส่แองเกิ้ล เป็นผ้ายืดรัดข้อเท้า นับว่าโก้แล้ว การไม่ใส่รองเท้าเตะบอลกันนับว่าดีไปอย่าง ช่วยลดการบาดเจ็บ ขนาดไม่ใส่รองเท้าเรายังหวดกันหน้าแข้งโป้ ถ้ามีรองเท้าฟุตบอลจะเจ็บกันขนาดไหน
กีฬาที่เล่นมีหลายอย่าง ที่ยืนพื้นได้แก่ ฟุตบอล บาสเก็ตบอล และวอลเลย์บอล ที่มีแทรกมาบ้างเป็นบางปี ได้แก่ ทาวเวอร์ และรักบี้ รักบี้ตอนหลังเลิกไปเพราะเป็นกีฬาปะทะรุนแรง เกิดอุบัติเหตุได้บ่อย เด็กนักเรียนตัวสูงเท่ากันใช่ว่าน้ำหนักจะเท่ากัน บางคนผอมเป็นไม้เสียบผี บางคนหุ่นกำยำล่ำบึ้ก แบบนี้เวลาปะทะกันความเสี่ยงสูง ส่วนทาวเวอร์เป็นกีฬาที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก จะขออธิบายสักหน่อย
กีฬาชนิดนี้เรียกตามลักษณะของเสาที่ต้องรักษาซึ่งเป็นวัสดุรูปทรงกระบอกยาวราวฟุตครึ่ง ปกติทำด้วยไม้ไผ่ทาสีขาว ไม้ไผ่นี้จะวางอยู่บนหลุมตื้นๆ ใจกลางวงกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 10 เมตร ภายในวงกลมห้ามไม่ให้ผู้เล่นคนใดคนหนึ่งเข้า ยกเว้นผู้รักษาทาวเวอร์เพียงคนเดียว คนๆ นี้จะออกมาเล่นนอกวงกลมก็ไม่ได้
วิธีเล่นแบ่งเป็น 2 ข้าง ข้างละ 11 คน คนหนึ่งเป็นผู้รักษาทาวเวอร์เรียกว่า “โกล์” ผู้เล่นคนอื่นๆ จะพยายามเตะบอลให้ชนทาวเวอร์ของฝ่ายตรงข้าม ถ้าทาวเวอร์ล้มฝ่ายนั้นก็เสียแต้ม บอลมี 3 ลูกใช้เล่นพร้อมกัน ผู้อ่านคงนึกภาพความชุลมุนวุ่นวายของการแย่งบอล 3 ลูกกันออก
คนที่น่าสงสารกว่าเพื่อนคือโกล์ เขาจะถูกฝ่ายตรงข้ามพยายามเตะอัดเพื่อให้เกิดความกลัวจะได้ไม่กล้าทำหน้าที่ของตัว อย่าสำนวนสมัยนี้เรียก “เข้าเกียร์ว่าง” โดยมากคนเป็นโกล์จะเป็นผู้ไม่มีปากมีเสียงหรืออ่อนแอที่สุดของทีม เรียกว่าถูกขอร้องแกมบังคับ แต่บางครั้งพวก “ขาใหญ่” ลงมาทำหน้าที่เป็นโกล์ก็มี ถ้าเจอแบบนี้ไม่มีใครกล้าอัดเหมือนกัน กลัวโดนตามทางหนี้นอกระบบทีหลัง โทษลักษณะแบบนี้ของเกมส์ทาวเวอร์จึงทำให้ถูกแบนไปจากโรงเรียนของเราในที่สุด
กีฬาที่เด็กประจำเล่นกันทุกวันเรียกออร์กาไนซ์เกมส์
ออร์กาไนซ์เกมส์ จะมีตารางการแข่งที่แน่นอน เช่น วันจันทร์ ทีมใหญ่เอ สีเขียว เล่นบอลกับทีมใหญ่บี สีแดง ทีมจิ๋วซี สีน้ำเงิน เล่นบาสกับทีมจิ๋วดี สีขาว เป็นต้น โดยชนิดกีฬาจะหมุนเวียนไปสำหรับแต่ละทีม เช่น ทีมเล็กเอสีน้ำเงิน วันอังคารเล่นฟุตบอล วันพุธเล่นบาสเก็ตบอล วันพฤหัสบดีเล่นวอลเลย์บอล เป็นต้น เราจะได้รู้ว่าวันไหนทีมของเราจะเล่นกีฬาอะไร กับทีมใดโดยการดูบอร์ดหน้าตึกที่ใช้เก็บอุปกรณ์กีฬา
ออร์กาไนซ์เกมส์จะมีวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ เรียกเป็นวันฟรีเกมส์ วันนี้นักเรียนจะเล่นกีฬาก็ได้ ไม่เล่นก็ได้ ส่วนมากจะเลือกเอาข้างเล่น โดยเล่นกีฬาที่ตัวเองถนัดหรือชอบโดยฟอร์มทีมกันเอง สำหรับผู้เขียนจะเลือกเอาการเตะบอล หรือเล่นบาสเก็ตบอลเป็นพื้น
กีฬาไม่เป็นทางการอย่างอื่นที่เรานิยมเล่นกันได้แก่ หยอดหลุม ตี่จับ ราเด้อ เป็นต้น สองอย่างแรกคงพอคุ้นหู แต่กับ “ราเด้อ” มันคืออะไร
“ราเด้อ” เป็นกีฬายอดนิยมอีกอย่างของพวกเรา ความที่หาอุปกรณ์เล่นง่าย เข้าใจกติกาไม่ยากและสนุก การเล่นคล้ายกับเบสบอลมาก แต่เราใช้ลูกเทนนิสเก่าๆ แทน ไม้ตีเป็นไม้หน้า 3 หรือไม้อื่นลักษณะใกล้เคียงตามแต่จะหาได้ เหลาปลายข้างหนึ่งให้เล็กสำหรับเป็นมือจับเท่านี้เราก็ได้ไม้ราเด้อชั้นดี แต่เราไม่มีการตีโฮมรัน ใครจะตีไปได้ไกลแค่ไหนก็ช่าง เราไม่ถือเป็นโฮมรัน ฝ่ายตรงข้ามคงตามไปเก็บลูกมาเล่นต่อตามปกติ สำหรับชื่อของมันไม่ทราบที่มาที่ไป เดาว่ามาจากคำ “ราวน์เดอร์” (Rounder) ที่หมายถึง (การวิ่ง) เป็นวงรอบหรือวงกลม (ถ้าผิดก็ขออภัยด้วย)
จะเห็นว่าเด็กสมัยก่อนมีกีฬาเล่นกันมากมาย ทั้งที่ผู้ใหญ่จัดให้หรือคิดค้นกันขึ้นเอง แต่ที่เอ่ยมาล้วนแล้วแต่เป็นกีฬากลางแจ้ง เกมหรือกีฬาในร่มมีบ้างจำพวกหมากฮอส หมากกระดาน แต่เกมคอมพิวเตอร์ยังไม่มีใครรู้จัก เราจึงไม่มีปัญหาเด็กติดเกม (คอมพ์) ตรงข้ามกับเด็กสมัยนี้ส่วนใหญ่จะหมกมุ่นกับเกมคอมพิวเตอร์มากกว่า การเล่นหลายชนิดที่กล่าวมาจึงค่อยเลือนหายไปเป็นเรื่องน่าเสียดายและน่าเป็นห่วง คงต้องมาช่วยคิดกันว่าจะแก้ไขอย่างไร
นพ.กฤษฎา บานชื่น
ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสารหมอชาวบ้าน ฉบับที่ 384